วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ทำไมองค์กรที่ประสบความสำเร็จถึงล้มเหลว

ผศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 2 กันยายน 2546

ท่านผู้อ่านเคยสงสัยบ้างไหมครับว่า ทำไมองค์กรธุรกิจที่มีประวัติของความสำเร็จมาอย่างยาวนานจำนวนมาก ถึงได้อยู่ก็ประสบกับความล้มเหลวภายในเวลาไม่กี่ปี

ตัวอย่างขององค์กรเหล่านี้มีให้เห็นทั้งจากในต่างประเทศหรือในประเทศไทยเอง อาจจะกล่าวได้ว่า สาเหตุสำคัญของความล้มเหลวขององค์กรธุรกิจ ก็คือการบริหารงานที่ผิดพลาด (Mis-management) แต่ถ้าเรามองให้ดีๆ จะพบว่าในหลายๆ กรณีที่องค์กรธุรกิจที่เคยประสบความสำเร็จกลับต้องมาล้มเหลวนั้นมาจากสาเหตุง่ายๆ เท่านั้นเอง

แนวคิดดังกล่าวผมได้มาจากบทความหนึ่งในวารสาร Harvard Business Review เมื่อปีที่แล้วที่ระบุถึงสาเหตุที่องค์กรที่ประสบความสำเร็จถึงล้มเหลว ถ้าจำไม่ผิดผู้เขียนบทความดังกล่าวจะชื่อ David James ซึ่งมีอาชีพเป็น Professional Crisis Management

หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ผู้ที่คอยเข้าไปพลิกฟื้นกิจการให้กับองค์กรที่ประสบปัญหาหรือความล้มเหลว ทำให้มีประสบการณ์เกี่ยวกับสาเหตุที่องค์กรล้มเหลวมาเยอะพอสมควร

ผู้เขียนบทความดังกล่าวระบุไว้เลยว่า องค์กรที่เขาจะต้องเข้าไปพลิกฟื้นส่วนใหญ่นั้นมักจะเป็นองค์กรที่มีประวัติของความสำเร็จมาก่อน และโดยมากนั้นสาเหตุของความล้มเหลวที่เกิดขึ้น ก็มักจะมาจากสาเหตุง่ายๆ ก็คือ ความหลงตนเองและความไม่ระมัดระวังนั้นเอง

โดยส่วนใหญ่เมื่อองค์กรธุรกิจประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง มักจะส่งผลให้ทั้งผู้ถือหุ้นและผู้บริหารเกิดอาการหลงอยู่ในความสำเร็จของตนเอง โดยผู้ถือหุ้นเองเมื่อได้รับผลตอบแทนที่ดีติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็เกิดอาการที่อยากจะได้ต่อไปเรื่อยๆ ส่วนผู้บริหารเองก็ต้องการที่จะประสบความสำเร็จต่อไปนานๆ

ดังนั้น ในองค์กรที่ประสบความสำเร็จ จึงมักจะมีแนวโน้มที่จะขยายกิจการของตนเองออกไปมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มกำลังการผลิต การขยายเข้าไปสู่ตลาดใหม่ๆ หรือการเข้าไปซื้อกิจการของผู้อื่น

การขยายกิจการเหล่านี้ต้องอาศัยเงินทุน แต่ก็มักจะไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากในองค์กรที่มีประวัติของความสำเร็จมาก่อน ผู้ถือหุ้นเดิมก็อยากที่จะลงทุนเพิ่ม และในขณะเดียวกัน สถาบันการเงินก็พร้อมที่จะให้สินเชื่อในต้นทุนที่ไม่แพง เนื่องจากมองว่าธุรกิจเหล่านี้เป็นลูกค้าชั้นดีและมีความเสี่ยงที่ต่ำ

อ่านเนื้อหาข้างต้นแล้วท่านผู้อ่านอาจจะคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็ดูว่าจะไปได้ด้วยดี แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้องค์กรถึงต้องมาล้มเหลวได้

จริงๆ แล้ว ถ้าองค์กรธุรกิจดำเนินงานอยู่ในสุญญากาศปัญหาทั้งหมดก็คงจะไม่เกิดขึ้น แต่ท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมว่า ในการดำเนินธุรกิจนั้นการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งในแง่ของสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงาน พฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป

และสุดท้าย ที่เรามักจะลืมนึกถึงก็คือคู่แข่งขัน ทั้งนี้ เมื่อองค์กรธุรกิจมีโอกาสที่จะขยายตัว คู่แข่งก็ย่อมที่จะมีโอกาสในลักษณะเดียวกัน ดังนั้น เมื่อต่างคนต่างขยายตัวเมื่อถึงจุดๆ หนึ่งการเติบโตของตลาดก็จะลดลง และส่งผลให้ภาวะการแข่งขันรุนแรงขึ้น ทำให้การแข่งขันมุ่งเน้นที่ราคามากขึ้น

ส่วนแบ่งตลาดและกำไรที่องค์กรธุรกิจเคยได้รับก็ลดน้อยลง องค์กรธุรกิจบางแห่งจะถือว่าโชคร้ายซ้ำสองถ้าองค์กรนั้นมุ่งเน้นการขยายตัวจากเงินกู้เป็นหลัก เนื่องจากถ้าเมื่อใดที่ดอกเบี้ยที่เคยได้มาถูกๆ มีราคาสูงขึ้น ประกอบกับองค์กรเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ก็จะส่งผลให้องค์กรต้องแบกรับภาระต้นทุนของเงินทุนที่สูง

ดูเหมือนว่า ต้นเหตุของความล้มเหลวขององค์กรเหล่านี้มาจากทั้งผู้ถือหุ้นและผู้บริหาร เนื่องจากทั้งคู่ต่างหลงระเริงกับความสำเร็จที่ผ่านมา ทำให้เกิดความอยากที่จะสำเร็จต่อไปเรื่อยๆ และคิดว่าการที่จะสำเร็จต่อไปได้นั้นหนีไม่พ้นการขยายกิจการ อาจจะกล่าวได้ด้วยซ้ำไปว่ายิ่งองค์กรประสบความสำเร็จมากก็มีโอกาสที่จะล้มเหลวมากเช่นกัน

ความล้มเหลวในลักษณะข้างต้น เราอาจจะเจอได้ในธุรกิจของไทยบางแห่งที่เป็นธุรกิจครอบครัวและประสบความสำเร็จมาตั้งแต่รุ่นที่ 1 แต่มาล้มเหลวลงในรุ่นลูกหรือหลาน โดยในรุ่นที่ 1 ได้สร้างธุรกิจให้เติบโตและประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องด้วยความระมัดระวัง

พอเข้าสู่รุ่นที่สองและสามที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาบริหารก็เล็งเห็นโอกาส ที่จะทำให้องค์กรของตนเองเติบโตขึ้นไปอีก ประกอบกับความรู้ที่ได้จากการศึกษาทำให้มีช่องทางในการแสวงหาแหล่งเงินทุนในการขยายกิจการได้มาก

แต่ผลปรากฏว่า ทั้งสภาวะแวดล้อมและคู่แข่งขันไม่เป็นใจ ทำให้ธุรกิจที่รุ่นปู่ รุ่นพ่อได้สร้างขึ้นมาต้องมาพังทลายหรือเปลี่ยนเจ้าของในรุ่นลูก สาเหตุของความล้มเหลวในลักษณะข้างต้นจะเป็นสิ่งที่เราพบเห็นได้ทั่วๆ ไป และไม่มีวันหมดไปจากโลกนี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นของความล้มเหลวที่เกิดขึ้นจากความหลงระเริงกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นในอดีต

ดังนั้น ในตำราทางด้านการจัดการจำนวนมาก จึงพยายามเตือนผู้บริหารทุกคนว่า ให้ระวังความหลง (Complacency) เนื่องจากจะเป็นสาเหตุอันนำไปสู่ความล้มเหลว