วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อคติ

อคติ แปลว่า ไม่ใช่ทางไป ไม่ใช่ทางเดิน ไม่ควรไป ไม่ควรเดิน ในภาษาไทยหมายความถึง ความลำเอียง ความไม่ยุติธรรม ความไม่เป็นธรรม

อคติเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ยังมีกิเลส ซึ่งจะต้องมีอยู่ด้วยกันทุกคน เพราะปกติคนเราจะทำอะไรก็ตาม มักจะคิดถึงประโยชน์ของตนเอง ญาติพี่น้อง หรือพวกพ้องก่อนเสมอ ซึ่งการกระทำในลักษณะเช่นนี้ เป็นสาเหตุให้ความถูกใจอยู่เหนือความถูกต้อง ความผิดอยู่เหนือความถูก หรือผิดเป็นชอบ

ประเภทของอคติ 4

พุทธศาสนาแบ่งอคติออกเป็น 4 ประเภท ตามพื้นฐานแห่งจิตใจ คือ

1. ฉันทาคติ ความละเอียงเพราะความรักใคร่ หมายถึง การทำให้เสียความยุติธรรม เพราะอ้างเอาความรักใคร่หรือความชอบพอกัน ซึ่งมักเกิดกับตนเอง ญาติพี่น้อง และคนสนิทสนม การแก้ฉันทาคติ ต้องทำใจให้เป็นกลาง โดยการปฏิบัติต่อทุกคนให้เหมาะสมเหมือนๆกัน

2. โทสาคติ ความละเอียงเพราะความไม่ชอบ เกลียดชัง หรือโกรธแค้น หมายถึง การทำให้เสียความยุติธรรม เพราะความโกรธ หรือลุอำนาจโทสะ การแก้ไขโทสาคติ ทำได้ด้วยการทำใจให้หนักแน่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา และพยายามแยกเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงานออกจากกัน

3. โมหาคติ ความละเอียงเพราะความไม่รู้ หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หมายถึง การทำให้เสียความรู้สึกธรรมเพราะความสะเพร่า ความไม่ละเอียดถี่ถ้วน รีบตัดสินใจก่อนพิจารณาให้ดี วิธีแก้ไข ทำด้วยการเปิดใจให้กว้าง ทำใจให้สงบ มองโลกในแง่ดี และยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น

4. ภยาคติ ความละเอียงเพราะความกลัว หมายถึง การทำให้เสียความยุติธรรม เพราะมีความหวาดกลัว หรือเกรงกลัวภยันตราย วิธีแก้ทำได้ด้วยการพยายามฝึกให้เกิดความกล้าหาญ โดยเฉพาะความกล้าหาญทางจริยธรรม คือ กล้าคิด กล้าพูดในสิ่งที่ดีงาม

แนวทางปฏิบัติเพื่อชีวิตและสังคม

อคติเป็นทางที่ไม่ควรปฏิบัติ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยง โดยการพิจารณาถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมา หากพิจารณาว่าเรากำลังมีจิตใจลำเอียง ก็ให้ปรับปรุงพฤติกรรมของตนเองใหม่ให้ตรงกันข้าม คือความไม่ลำเอียง

โดยปกติคนเราชอบความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม และเกลียดความลำเอียง ตาการที่เราจะสร้างความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม และหลีกเลี่ยงความลำเอียงได้นั้น ค่อนข้างยาก วิธีเดียวที่ทำได้ คือ ฝึกฝนจิตใจ โดยถือหลัก เอาใจเขามาใส่ใจเรา เราเกลียดความอยุติธรรม ความไม่ชอบทำอย่างไร คนอื่นก็เช่นเดียวกับเรา เกลียดความลำเอียงชอบความยุติธรรมเหมือนกัน